วัคซีน

การทำวัคซีนไก่ไข่ 
 
 


          จุดประสงค์ของการทำวัคซีน คือ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่ไม่สามารถทำการรักษาได้หรือโรคที่ยากต่อการรักษา ทำให้ไก่สร้างภูมิคุ้มันเกิดขึ้นในร่างกาย การทำวัคซีนเป็นการเพิ่มความเครียดให้ไก่ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น จึงต้องเข้มงวดในขั้นตอนการทำวัคซีน โดยต้อนไก่ครั้งละน้อยๆ จับไก่ด้วยความระมัดระวัง และทำวัคซีนด้วยความนุ่มนวล ถ้าไม่ระมัดระวังมีผลทำให้ไก่เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นและไก่แพ้วัคซีนมากขึ้น

   
 
ชนิดของวัคซีน
   

 

 
 
          วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เตรียมขึ้นจากส่วนของเชื้อโรคหรือเชื้อที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งเมื่อฉีดเข้าร่างกายสัตว์ก็สามารรถทำให้สัตว์สร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ และภูมิคุ้มกันโรคนั้นสามารถที่จะป้องกันสัตว์ไม่ให้ป่วยเป็นโรคนั้น ชนิดของวัคซีนแบ่งออกได้ 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

 
            1. วัคซีนเชื้อเป็น  เป็นวัคซีนที่เตรียมจากเชื้อที่มีความรุนแรงแต่ถูกทำให้อ่อนแอลง หรือถูกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นจุลชีพที่ไม่มีความรุนแรง ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ จุลชีพเหล่านี้สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดความเครียดหรือเกิดอาการแพ้วัคซีน วัคซีนเชื้อเป็นสามารถให้ไก่ได้ทีละตัว โดยการหยอดตาหรือหยอดจมูก หรือให้ไก่เป็นกลุ่มโดยการละลายในน้ำดื่ม หรือการสเปรย์ ทำให้ประหยัดแรงงาน วัคซีนเชื้อเป็นสามารถถูกทำลายได้ง่ายโดยภูมิคุ้มกันที่ถ่ายทอดมาจากแม่แต่ให้ความคุ้มโรคสูง อาจทำให้สัตว์เกิดโรคได้ แต่การเก็บรักษายุ่งยากกว่าวัคซีนเชื้อตาย และมีราคาถูก  
 


 
            2. วัคซีนเชื้อตาย  เป็นวัคซีนที่มักเตรียมจากเชื้อที่ความรุนแรงที่ถูกทำให้ตายโดยทางเคมีหรือฟิสิกส์ จุลชีพเหล่านี้ไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงมีความปลอดภัย แต่ให้ความคุ้มโรคต่ำ วัคซีนเชื้อตายจะให้โดยวิธีการฉีดเท่านั้น สารที่ใช้ผสมกับวัคซีนจะเป็นน้ำมันหรืออลูมินั่มไฮดร็อกไซด์ สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดี วัคซีนเชื้อตายมีราคาแพงแต่เก็บรักษาง่าย  
 
 
 

 

   
 
วิธีการทำวัคซีน
   

 

 
 
            การทำวัคซีนไก่สามารถทำได้หลายวิธีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนที่ใช้และชนิดของโรค

 
            1. การหยอดตาหรือหยอดจมูก เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ เพื่อป้องกันโรคที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคนิวคาสเซิล และหลอดลมอักเสบ โดยละลายวัคซีนในน้ำยาละลายวัคซีน (น้ำกลั่น ที่อุณหภูมิห้อง) การใช้น้ำเย็นจัดอาจทำให้เยื่อบุอักเสบ ขวดที่ใช้หยอดวัคซีนควรเป็นขวดมาตรฐาน เพื่อให้ลูกไก่ได้รับวัคซีนครบโด๊ส การหยอดตาให้หยอดวัคซีน 1-2 หยดต่อไก่ 1 ตัว ตำแหน่งที่จะหยอดวัคซีนก็คือที่บริเวณมุมตาด้านใน รอจนกระทั่งวัคซีนเข้าไปในตาจึงปล่อยไก่ การหยอดจมูกจะให้ผลดีกว่าการหยอดตา การหยอดโดยใช้นิ้วมือปิดรูจมูกไว้ข้างหนึ่งแล้วจึงหยอดวัคซีนในรูจมูกอีกข้างหนึง การทำวัคซีนโดยการหยอดตาและหยอดจมูกทำให้ไก่ทุกตัวได้รับปริมาณวัคซีนที่ใกล้เคียงกันทุกๆ ตัว ดังนั้น ภูมิคุ้มโรคที่เกิดจึงมีระดับใกล้เคียงกัน เพียงแต่วิธีการทำยุ่งยาก เสียเวลา และเสียแรงงานมากกว่าเท่านั้น  
 


 
            2. การแทงปีก เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ คือบริเวณใต้ผิวหนัง เช่น วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ เป็นวัคซีนที่มีความเข้มข้นมาก เนื่องจากใช้น้ำยาละลายวัคซีนเพียงเล็กน้อย และใช้เข็มจุ่มวัคซีนครั้งละ 0.01 ซี.ซี. โดยสังเกตุจากการที่วัคซีนเต็มรูเข็มทั้งสองข้าง แล้วแทงเข็มจากทางด้านล่างผ่านทะลุผนังของปีกไก่ ระวังอย่าให้แทงผ่านขน กล้ามเนื้อ หรือกระดูก ภายใน 7-10 วัน หลังจากทำวัคซีนจะเกิดรอยสะเก็ดแผลทั้งด้านบนและด้านล่างของผนังปีกไก่ซึ่งเกิดจากการแทงเข็มผ่าน  
 

 
            3. การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง  เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการทำวัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์ โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณท้ายทอยหรือฐานคอ ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ให้ผลในการคุ้มกันโรคนาน  
 

 
            4. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ   เป็นวิธีที่นิยมใช้กับวัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก การฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันดีกว่าการหยอดตาและจมูก เพราะจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันด้วยสารนำขึ้นในกระแสเลือดและเกิดการหมุนเวียนไปทั่วร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์ไก่ เป็นต้น  
 

 
            5. การละลายน้ำดื่ม  เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ประหยัดแรงงาน และเหมาะสำหรับไก่จำนวนมากๆ แต่การสร้างภูมิคุ้มกันจะมีความผันแปรค่อนข้างมาก เนื่องจากไก่แต่ละตัวได้รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน ดังนั้น จะต้องหยุดให้น้ำไก่เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนทำวัคซีน เพื่อกระตุ้นให้ไก่กระหายน้ำและกินน้ำผสมวัคซีนให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง ระยะเวลาในการอดน้ำจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อุปกรณ์ให้น้ำต้องเพียงพอสำหรับไก่จำนวน 2 ใน 3 ของคอกสามารถเข้าไปกินน้ำได้พร้อมๆ กัน ถ้าไม่พออาจเพิ่มอุปกรณ์ให้น้ำขึ้นมาชั่วคราวสำหรับการนี้โดยเฉพาะ จุดนี้ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัยที่สุด เพราะการล้มเหลวจากการให้วัคซีนนี้มักเกิดจากระบบน้ำไม่ถูกต้องและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ สำหรับปริมาณน้ำที่ใช้ละลายวัคซีนจะผันแปรไปตามอายุของไก่ ดังนี้

  อายุ 1 สัปดาห์ ใช้น้ำ 2-5 ลิตรต่อไก่ 1,000 ตัว
  อายุ 2-3 สัปดาห์ ใช้น้ำ 9-11 ลิตรต่อไก่ 1,000 ตัว
  อายุ 5-7 สัปดาห์ ใช้น้ำ 14-18 ลิตรต่อไก่ 1,000 ตัว
  อายุมากกว่า 7 สัปดาห์ ใช้น้ำ 20-23 ลิตรต่อไก่ 1,000 ตัว
 
 

 
            6. การสเปรย์   เป็นวิธีที่นิยมมากสำหรับการทำวัคซีนครั้งแรกในลูกไก่อายุ 1 วัน เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อจากไวรัสในระบบะทางเดินหายใจ อาจสเปรย์ตั้งแต่ในโรงฟักหรือโรงเรือนที่เลี้ยง โดยสเปรย์ใส่ลูกไก่ที่อยู่ในกล่องเลย ลูกไก่จะได้รับวัคซีนผ่านทางลูกตาหรือจมูก เป็นวิธีที่ทำได้รวดเร็ว สามารถให้วัคซีนแก่ไก่จำนวนมากๆ ในระยะเวลาอันสั้น แต่ประมาณวัคซีนที่ได้รับอาจแตกต่างกันไป การสเปรย์ควรสเปรย์ให้พอหมาดๆ ไม่ควรให้ตัวลูกไก่เปียกโชก และควรทิ้งลูกไก่ไว้ 10-15 นาที เพื่อให้ตัวแห้ง  
 
 
 

 

   
 
ตำแหน่งบนตัวสัตว์ที่จะใช้ฉีดวัคซีน
   

 

 
 

 
 

ฉีดเข้ากล้าม

หยอดตา

หยอดจมูก

แทงปีก
 
 
 
 

   
 
ข้อควรปฏิบัติในการทำวัคซีน 
   

 

 
 

 
 
          1. อายุของไก่และระยะเวลาในการทำวัคซีนจะมีความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของไก่เป็นอย่างมาก ดังนั้นในการทำวัคซีนจึงควรทำตามกำหนดเวลาอย่างถูกต้อง
          2. สุขภาพของไก่ขณะที่ทำวัคซีนจะต้องมีความสมบูรณ์ แจ่มใส แข็งแรง ไม่เป็นโรคระบาด และต้องปลอดภัยจากพยาธิ เพราะอาจจะทำให้การทำวัคซีนไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทั้งอาจทำให้ไก่ป่วยมีอาการขั้นรุนแรงได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพของไก่และอาการแทรกซ้อนต่างๆ จึงควรให้ยาปฏิชีวนะหรือไวตามิน 3 วันติดต่อกัน กล่าวคือ ก่อนและหลังทำวัคซีน 1 วัน และในวันทำวัคซีนอีก 1 วัน
          3. วัคซีนที่ใช้ต้องไม่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ และควรซื้อวัคซีนจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น
          4. การเก็บรักษาวัคซีน จะต้องเก็บไว้ในที่เย็นจัด เช่น ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น หรือตามคำแนะนำของการใช้วัคซีนนั้น การขนส่งจะต้องบรรจุในกระติดน้ำแข็งผสมเกลือ และควรระวังอย่าให้วัคซีนถูกความร้อนหรือแสงอาทิตย์ เพราะจะทำให้วัคซีนเสื่อมสภาพได้
          5. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำวัคซีนทุกชิ้นจะต้องได้รับการทำความสะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อ อาจเป็นวิธีต้ม นึ่งไอน้ำ แล้วทิ้งไว้ให้เย็นก่อนนำไปใช้ทุกครั้ง ในกรณีที่ทำวัคซีนละลายน้ำ ควรล้างภาชนะต่างๆ ให้สะอาดก่อนนำไปใช้ทุกครั้ง
          6. ในการผสมวัคซีน จะต้องผสมในอัตราที่ถูกต้องและเหมาะสม เมื่อผสมเสร็จแล้วควรรีบใช้ให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง
          7. วัคซีนที่ผสมแล้วเหลือใช้ รวมทั้งหลอดหรือขวดบรรจุวัคซีน ก่อนทิ้งควรผ่านการต้มฆ่าเชื้อเสียก่อน
 
 
 
 

   
 
การเก็บรักษาวัคซีน
   

 

 
 
          การเก็บรักษาวัคซีนจะต้องทำอย่างถูกต้อง หากเก็บรักษาไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง จะทำให้วัคซีนนั้นเสื่อมทันที ซึ่งการเก็บรักษาวัคซีนควรปฏิบัติ ดังนี้

 
 
          1. ควรเก็บวัคซีนไว้ในตู้เย็นที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้สม่ำเสมอตลอดเวลา ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วอุณหภูมิประมาณ 2-8 องศาเซลเซียส
          2. ในกรณีที่ไฟฟ้าดับ กรณีที่ในตู้เย็นไฟฟ้าจะต้องรีบย้ายวัคซีนมาเก็บในภานะหรือถังน้ำแข็ง อย่าปล่อยทิ้งไว้ในตู้เย็นรอจนไฟมา เพราะจำทำให้วัคซีนเสื่อมคุณภาพได้
          3. การเก็บวัคซีนในตู้เย็นควรดูชนิดของวัคซีน และข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตกำหนดมาในเรื่องอุณหภูมิ เพราะวัคซีบางชนิดจะเก็บในตู้เย็ยธรรมดา บางชนิดจะเก็บในช่องแช่แข็ง แต่โดยปกติแล้ววัคซีนชนิด Freezedries จะเก็บในช่องแช่แข็ง ส่วนวัคซีนที่เป็นน้ำจะเก็บในช่องธรรมดา ไม่ควรรีบนำไปเก็บไว้ในชั้นที่ใกล้หรือใต้ช่องแช่แข็ง เพราะจำทำให้วัคซีนแข็งตัวและเสื่อมคุณภาพได้
          4. ตู้เย็นที่ใช้เก็บวัคซีนควรแยกต่างหากจากตู้เย็นอาหารหรือเครื่องดื่ม และไม่ควรเป็นตู้เย็นที่เปิด-ปิดอยู่เสมอ
          5. เมื่อเก็บวัคซีนไว้นานแล้ว วัคซีนจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิม เช่น แข็งตัว เปลี่ยนสี เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้วัคซีนเสื่อมคุณภาพและไม่ควรนำไปใช้ ควรทำลาเสียโดยการเผา
          6. ควรแยกเก็บวัคซีนแต่ละชนิดออกจากกันอย่าไว้ปนกัน เพื่อสะดวกในการหยิบใช้ไม่ผิดพลาด
 
 
 
 

   
 
โปรแกรมวัคซีนในไก่ไข่
   

 

 
 

 
 
อายุไก่
ชนิดวัคซีน
วิธีทำ
หมายเหตุ
1 วัน
1 วัน
มาเร็กซ์
หลอดลมอักเสบ
ฉีดใต้ผิวหนัง
หยอดตา
ทำจากโรงฟัก
ทำเมื่อลูกไก่ถึงฟาร์ม
10 วัน
นิวคาสเซิลลาโซต้า หยอดตา  
14 วัน
กัมโบโร ละลายน้ำ ชนิดเชื้อเป็น
4 สัปดาห์
นิวคาสเซิล + หลอดลมอักเสบ
ผีดาษ
หยอดตา
แทงปีก
 
5 สัปดาห์
วัคซีนหวัด
กล่องเสียงอักเสบ
ฉีดเข้ากล้าม
หยอดตา
1/2 โด๊ส ในพื้นที่ที่มีโรค
1/2 โด๊ส ระบาดรุนแรง
8 สัปดาห์
นิวคาสเซิล + หลอดลม
นิวคาสเซิล
หยอดตา
ฉีดเข้ากล้าม
ชนิดเชื้อเป็น
ชนิดเชื้อตาย
10 สัปดาห์
กล่องเสียงอักเสบ หยอดตา  
14 สัปดาห์
วัคซีนหวัด
หลอดลมอักเสบ
ฉีดเข้ากล้าม
หยอดตา
 
16 สัปดาห์
* อี.ดี.เอส + นิวคาสเซิล ฉีดเข้ากล้าม ชนิดเชื้อตาย
22 สัปดาห์
นิวคาสเซิล + หลอดลมอักเสบ ละลายน้ำ  
32 สัปดาห์
นิวคาสเซิล + หลอดลมอักเสบ ละลายน้ำ  
40 สัปดาห์
นิวคาสเซิล + หลอดลมอักเสบ ละลายน้ำ  
48 สัปดาห์
นิวคาสเซิล + หลอดลมอักเสบ ละลายน้ำ  
56 สัปดาห์
นิวคาสเซิล + หลอดลมอักเสบ ละลายน้ำ  
64 สัปดาห์
นิวคาสเซิล + หลอดลมอักเสบ ละลายน้ำ  
* โปรแกรมวัคซีนอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามภาวะของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องที่

1 ตอบกลับที่ วัคซีน

  1. วิภาวัลย์ อินวิเศษ พูดว่า:

    การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่ไม่สามารถทำการรักษาได้หรือโรคที่ยากต่อการรักษา

ใส่ความเห็น